ประมวลกฎหมายอาญา |
---|
มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๗ หรือมาตรา ๒๙๘ นั้น |
คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2564 การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ต้องพิจารณาทั้งการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วยจำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวตลาดคลองถมเชียงม่วน จำเลยทั้งสองและผู้เสียหายที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางจำเลยทั้งสองซื้อเบียร์มาดื่มด้วยกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์จนรู้สึกมึนเมา จำเลยที่ 2 ซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อและไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตลาดคลองถมเชียงม่วนแต่กลับร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าพักในโรงแรมที่เกิดเหตุโดยพักอยู่ห้องเดียวกันและนอนเตียงเดียวกัน ต่อมาขณะผู้เสียหายที่ 1 หลับแล้วตื่นขึ้นมา จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในห้องพัก จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีเข้าไปในห้องน้ำ จนกระทั่งจำเลยที่ 2 เรียก จึงยอมออกมา การกระทำของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อนโดยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในห้องพักในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร หาใช่เพียงผู้สนับสนุนไม่จำเลยทั้งสองตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 และปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ยอมความแทนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2563 การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนั้นเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ โดยไม่จำกัดวิธีการ เพียงแต่ให้สำเร็จผลเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ขณะผู้เสียหายอยู่กับจำเลยในบ้าน จำเลยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าผู้เสียหายหากผู้เสียหายออกไปจากบ้านเกิดเหตุ ผู้เสียหายรู้สึกกลัว จึงไม่ได้ออกไปไหน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14552/2555 โจทก์ฟ้องจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยมีและใช้อาวุธปืน มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์คงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แต่ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงมีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับ ก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นได้ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าความผิดสำเร็จนับแต่จำเลยเริ่มพรากผู้เยาว์ไปโดยมีเจตนา จึงไม่ใช่เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก และฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยใช้อาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) นั้น จำเลยกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายจะหน่วงเหนี่ยวเอาตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้กระทำชำเรา การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม |
บทความที่น่าสนใจ |
-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่ -ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก -การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม -การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร -เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น -ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร -ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม -ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้ -การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน -เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร
|